ปะยางสตรีม คืออะไร มีข้อดีอย่างไรบ้าง
สำหรับคนที่ขับขี่รถยนต์อยู่เป็นประจำ คงต้องมีบ้างที่ประสบกับเหตุการณ์ หรืออุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นการเผลอขับไปเหยียบตะปู หินคมๆ หรือไม้เสียบลูกชิ้น ทำให้เกิดแผลบริเวณยางจนยางแบน และต้องนำรถเข้าศูนย์บริการไปปะยางในที่สุด สำหรับในบทความนี้ ก.เจริญยางยนต์ และ ก.เจริญค็อกพิท จะมาเจาะลึกถึง การปะยางสตรีม ว่าการปะยางแบบนี้นั้นคืออะไร มีข้อดี และข้อแตกต่างจากการปะยางในรูปแบบอื่นอย่างไรบ้าง
ยางรั่ว เลือกปะยางแบบไหนดี
เมื่อเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ยางรั่ว ก่อนอื่นผู้ขับขี่ควรสำรวจก่อนว่าตัวยางมีแผลมากน้อยแค่ไหน และเสียหายจุดไหนบ้าง หากเป็นรอยรั่วที่เกิดจากของมีคมบริเวณหน้ายาง เช่น การถูกตะปูตำหรือโลหะเหล็กคมที่มีขนาดเล็กทิ่มเข้าไปที่หน้ายางเป็นแผลไม่ใหญ่มาก ก็สามารถเลือกอุดรอยรั่วได้ด้วยวิธีการปะยาง
แต่หากตัวยางมีบาดแผลเป็นลักษณะการปริแตกเป็นทางยาว หรือมีรอยขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณแก้มยาง เราแนะนำว่าผู้ขับขี่ควรจะต้องเปลี่ยนยางเส้นใหม่ทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะแก้มยางเป็นส่วนโครงสร้างที่รับน้ำหนักทั้งหมดของรถ ซึ่งในขณะที่รถวิ่งแก้มยางจะต้องรับแรงกระแทกอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
การปะยางแบบสตรีมคืออะไร
การปะยาง นั้นเป็นการซ่อมแซมยางล้อรถยนต์ด้วยการอุดรอยรั่วบนตัวยาง เพื่อให้รถสามารถกลับมาขับขี่ได้อย่างปกติและปลอดภัย โดยปกติแล้วการปะยางสามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ คือการปะยางแบบแทงไหม และการปะยางแบบสตรีม ซึ่งการปะยางแต่ละประเภทนั้นมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป สำหรับการปะยางในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงการปะยางแบบสตรีม ซึ่งจะมีทั้งแบบสตรีมร้อน และสตรีมเย็น
สำหรับการปะยางรถยนต์แบบสตรีมนั้นเป็นการปะยางแบบดั้งเดิม ซึ่งทั้งการสตรีมร้อนและสตรีมเย็นนั้นเป็นวิธีการที่ใช้สำหรับอุดรอยรั่วขนาดเล็กบนตัวยางที่เกิดจากการถูกของมีคมทิ่มตำ โดยวิธีการปะยางจะคล้ายคลึงกัน
การปะยางแบบสตรีมร้อนและสตรีมเย็นต่างกันอย่างไร
อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าการปะยางแบบสตรีมนั้นแบ่งออกได้เป็นการสตรีมร้อน และสตรีมเย็น ลองมาดูกันครับว่าการปะยางทั้งสองแบบนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
การปะยางสตรีมร้อน
การปะยางสตรีมร้อนนั้นเป็นวิธีการที่สามารถช่วยอุดรอยรั่วได้ดี มีความคงทน ตัวบาดแผลจะแนบสนิทเนียนเป็นเนื้อเดียวไปกับเนื้อยาง และสามารถรับน้ำหนักได้เท่ายางปกติ แต่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าสตรีมร้อน ดังนั้นจึงอาจมีโอกาสที่ความร้อนจะทำให้โครงสร้างยางเสียรูปทรงและอาจบวมได้ในที่สุด
การปะยางสตรีมเย็น
เนื่องจากการสตรีมเย็นนั้นจะไม่มีการใช้ความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่ทำให้โครงสร้างยางเสียรูปทรง แต่ก็แลกมาด้วยข้อเสียคือ ทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนักลดลง จึงไม่เหมาะกับรถที่ใช้บรรทุกของหนัก แต่หากเป็นรถบ้านที่ใช้งานปกติทั่วไปก็ไม่มีปัญหา
ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง วิธีการปะยางก็เช่นเดียวกัน ไม่มีแบบไหนดีที่สุด ขึ้นอยู่กับการใช้งานในแต่ละแบบ ก็ลองเลือกดูครับว่าแบบไหนจะตอบโจทย์การใช้งานของคุณมากที่สุด
ข้อดีของการปะยางแบบสตรีม
หลังจากที่เราทำความเข้าใจไปแล้วว่าการปะยางสตรีมคืออะไร มีวิธีการ และลักษณะเฉพาะอย่างไร เราลองมาดูต่อในแง่ของข้อดีและข้อควรระวังกันดีกว่า เพื่อผู้ขับขี่จะได้มีข้อมูลเอาไว้ใช้ในการพิจารณาในการเลือกปะยางครั้งต่อไป
ข้อดี
วิธีการปะยางแบบสตรีมนั้นช่วยซ่อมแซมยางได้ทั้งรอยรั่วจากตะปูและรอยฉีกขาดขนาดเล็ก ซึ่งสามารถอุดรอยรั่วได้สนิทแนบไปกับล้อยาง ทนต่อความร้อน รับน้ำหนักได้ดี และสามารถใช้งานต่อได้ในระยะยาว
ข้อควรระวัง
มีโอกาสที่ตรงจุดที่ปะยางไว้หลุดร่อนได้หากเจอความร้อนสูง และสำหรับการสตรีมร้อนอาจทำให้เนื้อยางตรงจุดนั้นแข็งและเกิดการบวมขึ้นได้ในอนาคต
แม้ว่าการปะยางสตรีมจะเป็นหนึ่งในการซ่อมแซมยางรถยนต์ของคุณให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน แต่เจ้าของรถก็ไม่ควรละเลยที่จะดูแลตรวจเช็กสภาพยางรถยนต์อยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่ต้องเดินทางผ่านเส้นทางที่ขรุขระ หรือเขตก่อสร้างที่มีเศษหินแหลมคม ซึ่งอาจจะทำให้ยางรถยนต์ของเราถูกทิ่มตำหรือเกิดบาดแผลได้ง่าย
ที่ศูนย์บริการ ก.เจริญยางยนต์และ ก.เจริญค็อกพิท มีช่างผู้ชำนาญการไว้คอยบริการตรวจเช็ค ดูแล และซ่อมแซมยางรถยนต์ของคุณให้พร้อมใช้งานและลุยต่อได้ ด้วยประสบการณ์ และมาตรการที่ได้รับการยอมรับ
สำหรับลูกค้าท่านใดที่ต้องการคำแนะนำหรือต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับยางรถยนต์ การเปลี่ยนยาง หรือบริการอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ผ่านทุกช่องทางการสื่อสารของเราได้ตลอดเวลา
สาขาสุขุมวิท 91 : 02-331-9911
Line: @kc4418
พิกัด: https://maps.app.goo.gl/rghdgbMLHwgX2tHQA
สาขาอุดมสุข (K.Charoen Cockpit): 02-393-3356
Line: @kcockpit
พิกัด: https://maps.app.goo.gl/8biZzcos5fKN26h98
โดยคุณสามารถอ่านรายละเอียดสินค้าและการบริการต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ ร้านยาง ก.เจริญยางยนต์
0 Comments